หลังจากสมัครเรียนเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การ เตรียมตัวก่อนไปเรียนต่อ ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งน้องๆหลายคนก็ยังสงสัย ทั้งเรื่องการเดินทางคมนาคม หรือเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันส่วนตัว วันนี้พี่ๆ เลยขอรวบรวมข้อมูลอย่างเข้าใจง่ายที่สุด ให้กับน้องๆแล้วค่าาา
การเดินทางในอังกฤษ
ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในประเทศอังกฤษ จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเมืองที่อาศัยอยู่และสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่เลือก แต่โดยรวมๆ แล้วการเดินทางภายในประเทศอังกฤษค่อนข้างสะดวกสบายทีเดียว ถ้าหากอาศัยอยู่ในลอนดอนก็ขอแนะนำให้เข้าไปที่ TFL Journey Planner เว็บไซต์นี้จะช่วยได้เยอะทีเดียว หรือที่ www.nationalrail.co.uk
การใช้รถสาธารณะ : ทุกเมืองของประเทศอังกฤษ ล้วนมีบริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทั้งสิ้น แต่จะเดินทางด้วยวิธีการใดให้มีประสิทธิภาพที่สุดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ การเดินทางที่เราแนะนำเป็นพิเศษคือรถบัสที่มีอยู่หลายสาย วิ่งครอบคลุมแทบทุกพื้นที่และสถานที่สำคัญต่างๆ ภายในเมือง แถมยังมีราคาประหยัดกว่าแท็กซี่มากทีเดียว ส่วนใหญ่แต่ละเมืองจะมีสถานีรถบัสเป็นของตัวเอง ซึ่งสามารถเข้าไปข้อมูลเส้นทางการเดินรถและราคาตั๋วได้จากจุดประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่ควรรู้อีกด้วย อย่างเช่น ตั๋วราคาพิเศษสำหรับนักศึกษา ที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้พอสมควร หรือในเมืองใหญ่อย่างลอนดอนก็มี Oyster card บัตรที่สามารถใช้กับรถไฟ รถบัส รถโดยสารเกือบทุกชนิดในลอนดอน แต่ก็อาจจะมีกรณียกเว้นบ้าง จะต้องสอบถามจากเจ้าหน้าที่ หรือหาข้อมูลจากเว็บไซต์ไปก่อนล่วงหน้าเพื่อความแน่ใจ
ในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดเรียน ทางมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะให้ข้อมูลที่จะเป็นเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแก่นักเรียน ซึ่งน่าจะรวมถึงเบอร์โทรศัพท์ติดต่อแท็กซี่ในท้องถิ่นที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ เผื่ออาจจำเป็นต้องใช้กะทันหัน คำแนะนำอีกเล็กน้อยสำหรับการใช้บริการแท็กซี่คือ อย่าลืมสำรวจให้รอบคอบด้วยว่าแท็กซี่คันนั้นๆ มีใบอนุญาตหรือไม่
รถไฟใต้ดิน : หากจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอนก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินหรือที่เรียกว่า Tube ได้ รถไฟใต้ดินเป็นการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงมาก และหากใช้บัตร Oyster card สำหรับนักศึกษา จะสามารถลดราคาได้ถึง 30% จากราคาผู้ใหญ่เลยทีเดียว Oyster card สามารถเติมเงินได้ทั้งทางออนไลน์และที่สถานี หากต้องการข้อมูลใดๆ เพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ www.tfl.gov.uk นอกจากลอนดอนแล้ว เมืองอย่าง Glasgow และ Newcastle ก็มีรถไฟใต้ดินประสิทธิภาพสูงให้บริการเช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังมีรถบัสวนรอบเมืองหลายสายอีกด้วย
การเดินทางข้ามเมือง : หากต้องการเดินทางข้ามเมืองตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจก็คือรถไฟ ซึ่งควรจะวางแผนการเดินทางล่วงหน้าอย่างรอบคอบ เพราะค่าตั๋วรถไฟมีราคาไม่ถูกนักและบางทีอาจมีความยุ่งยากเล็กน้อย อย่างเช่นในวันที่สภาพอากาศเลวร้ายมาก รถไฟอาจจะไปถึงที่หมายเลทได้ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ก็จะคืนเงินบางส่วนให้เล็กน้อย เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทด้วย
ในการจองตั๋วรถไฟนั้น หากวางแผนการเดินทางล่วงหน้า และรู้วันเวลาที่แน่นอนในการเดินทางจะสามารถประหยัดเงินไปได้เยอะทีเดียว โดยทั่วไปแล้วตั๋วช่วงบ่ายวันธรรมดามักจะราคาถูกกว่าตั๋วในช่วงเวลาที่คนเดินทางกันเยอะๆ และราคาตั๋วจะปล่อยออกมาล่วงหน้าประมาณ 3 เดือน ซึ่งถ้าจองล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะได้ราคาถูกกว่า เพราะยิ่งใกล้วันเดินทางราคาตั๋วก็จะยิ่งแพงขึ้น ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ควรจะจองตั๋วล่วงหน้าสักเดือนสองเดือน และอย่าคิดกว่าการซื้อตั๋วแบบไปกลับพร้อมกันทีเดียวจะได้ตั๋วที่ราคาถูกกว่าเสมอไป ในบางกรณีถ้าลองเช็คดีๆ ก็อาจจะพบว่า การซื้อตั๋วแบบไปกลับแยกกัน อาจจะถูกกว่าซื้อตั๋วไปกลับในใบเดียว
นอกจากนี้ก็มีตั๋วแบบ 16-25 rail card ราคาพิเศษสำหรับเยาวชน ราคาประมาณ 30 ปอนด์ สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.16-25railcard.co.uk ที่มีราคาพิเศษสำหรับเยาวชน
หากต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางข้ามเมือง และพอจะมีเวลาเหลือเยอะสำหรับการเดินทาง สามารถใช้บริการรถโค้ชจากบริษัท เช่น National Express และ Megabus ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางนานกว่ารถไฟ แต่มีราคาเริ่มต้นเพียง 1 ปอนด์เท่านั้น
การเปิดบัญชีในประเทศอังกฤษ
โดยปกติผู้ที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษนั้น ควรจะต้องทราบวิธีการการเปิดบัญชี
ธนาคารไปก่อน เพราะทางการอังกฤษจะเข้มงวดมากโดยเฉพาะกับนักเรียนจากต่างประเทศ รวมทั้งเอกสารที่ใช้ก็มีมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากบัญชีธนาคารในอังกฤษนั้นสามารถนำไปทำธุรกรรมอื่นๆ ได้อีกมากมายเช่นเดียวกับที่ประชาชนอังกฤษทั่วไปสามารถทำได้ เช่น การกู้เงินหรือการทำสัญญาต่างๆ จึงทำให้สมุดบัญชีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ
การเปิดบัญชีธนาคาร : เอกสารในการเปิดบัญชีของผู้ที่ไปเรียนต่อต่างประเทศอังกฤษ ดังนี้ ได้แก่ พาสปอร์ต และหนังสือรับรองการเรียนต่อต่างประเทศ ของเราจากสถานศึกษาที่เราเข้าเรียน สำหรับรายชื่อธนาคารที่นิยมเปิดบัญชี เช่น Barclay, Nat West, Lloyds Bank, TSB, Nation Wide, HSBC เป็นต้น
** การเปิดบัญชีในประเทศอังกฤษนั้นสามารถทำได้สำหรับนักเรียนที่เรียนอยู่ในประเทศอังกฤษนานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
การติดต่อสื่อสาร
สำนักงานไปรษณีย์ในอังกฤษ หรือ Post Office มีระบบทันสมัยและเข้าใจง่าย บริการครอบคลุมและมีสาขาที่เข้าถึงประชาชนในทุกย่าน ที่สำนักงานไปรษณีย์ในอังกฤษ ผู้มาใช้บริการสามารถทำธุระได้แบบครอบจักรวาบ ตั้งแต่ซื้อแสตมป์ ซองจดหมายและหีบห่อทุกแบบทุกขนาด ส่งจดหมายและพัสดุ ซื้อบัตรโทรศัพท์ จ่ายค่าน้ำ – ค่าไฟ และสาธารณูปโภคอื่นๆ แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ขอหมายเลขโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ไปจนถึงการซื้อและจ่ายเบี้ยประกันชีวิต ประกันที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ประกันสัตว์เลี้ยง ประกันการท่องเที่ยว ซื้อพันธบัตรและอื่นๆิ
ที่ทำการไปรษณีย์ : เวลาทำการเปิดตั้งแต่วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00 – 17.30 น. และในวันเสาร์ เวลา 9.00 – 12.00 น. หลายแห่งมีตู้จำหน่ายแสตมป์อัตโนมัติหน้าร้านที่ใช้งานได้ 24 ชั่วโมง มูลค่าแสตมป์สำหรับส่งโปสการ์ดให้ญาติที่เมืองไทยและปลายทางในยุโรปคือ 87 p ไปรษณีย์จะใช้ป้ายร้านสีเขียว-แดง สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย หากต้องการค้นหาสาขาของ Post Office ก็สามารถใช้รหัสไปรณีย์ของเขตที่พักอยู่ค้นดูได้ที่ postoffice.co.uk
โทรศัพท์ : อัตราค่าโทรศัพท์ขึ้นอยู่กับระยะทางและระยะเวลาที่ใช้ การโทรศัพท์ออกนอกประเทศ ช่วงระยะเวลาที่ ประหยัดคือตั้งแต่เวลา 18.00 – 08.00 น. สอบถามค่าบริการอีกครั้งด้วยการกดไปที่หมายเลข 155 หากโทรศัพท์โดยผ่านโอเปอเรเตอร์ต้องเสียค่าบริการมากกว่าโทรโดยตรง หากจะโทรศัพท์มาประเทศไทยด้วยโทรศัพท์สาธารณะต้องกด : 00+66+รหัสเมือง+หมายเลขที่ต้องการ เช่น โทรมาที่กรุงเทพฯ หมายเลข 02-2612500 ต้องกด 00-66-2-2612500 เป็นต้น เบอร์โทรศัพท์ที่ผ่านโอเปอเรเตอร์ไทยเพื่อเรียกเก็บเงินปลายทางคือ 0800 89 0066 สำหรับผู้ที่ มีความประสงค์จะโทรศัพท์จากประเทศไทยไปลอนดอน สามารถทำได้โดยกดรหัส 001 44 20 หรือ 001 44 181
**ตำรวจ ดับเพลิง ฉุกเฉินอื่นๆ โทรเบอร์ 999
โทรศัพท์มือถือ : ในปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือเป็นที่นิยมเนื่องจากสามารถพกพาได้สะดวก นักเรียนนำโทรศัพท์จากเมืองไทยไปใช้ประเทศอังกฤษได้ หลายเครือข่ายโทรศัพท์มีให้เลือกใช้ ทั้งผู้ให้บริการรายใหญ่ เช่น Vodafone, Orange, O2, T-Mobile, Three (3) และผู้ให้บริการระหว่างประเทศในราคาประหยัด เช่น Lebara และยังมี pocket wi-fi อีกด้วย ซิมการ์ดสามารถหาซื้อได้ที่สนามบินหรือร้านโทรศัพท์มือถือทั่วไป การเติมเงิน สามารถซื้อบัตรเติมเงินได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป เช่น Tesco Lotus, Saninsbury’s เป็นต้น
อินเตอร์เน็ต : อินเทอร์เน็ตและสัญญาณ wi-fi มีทั่วไปในเมืองใหญ่ในอังกฤษ โดยเฉพาะตามโรงแรม โฮสเทล เกสต์เฮาส์ B&B รวมถึงคาเฟ่และร้านกาแฟ ส่วนร้านอินเทอร์เน็ต (Internet Café’) มักมีอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ
ในอังกฤษร้านค้าส่วนใหญ่เปิดตั้งแต่ 09.00-18.00 น. ร้านค้าในย่านช้อปปิ้งดังๆมักเปิดถึง 20.00 น. ส่วนวันอาทิตย์ร้านมักเปิดสายและปิดไวขึ้นคือ ตั้งแต่ 12.00-18.00 น. ห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่เปิดตั้งแต่ 10.00-20.00 น.
สำนักงานต่างๆ ทำงานในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. ธนาคารแต่ละแห่งจะมีเวลาเปิด-ปิด ที่ต่างกันไป เช่น เปิด 09.00-16.30 น. ในวันจันทร์-ศุกร์ ส่วนวันอังคารหรือพุธเปิดทำการสายสักนิดคือ 09.30 น. บางสาขาเปิดบริการในวันเสาร์ด้วย แต่อาจปิดไวขึ้นคือ 13.00 น. สำหรับพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่เปิดทำการเวลา 09.00-18.00 น. บางแห่งปิดในวันจันทร์ ในฤดูหนาว พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในอังกฤษปิดเร็วขึ้น คือราวๆ 16.00 น. เนื่องจากฟ้าจะมืดไวกว่าในฤดูอื่นๆ
ไฟฟ้า
ระบบไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศ คือ ระบบ 240 V. AC 50 Hz เหมือนในประเทศไทย แต่จะใช้ปลั๊กไฟ 3 ขา ซึ่งต่างจากบ้านเรา หากต้องการนำอุปกรณ์ไฟฟ้าไปด้วย ควรจะเตรียมปลั๊กไฟฟ้า 3 ขา ดังในรูปภาพไปด้วย โดยแนะนำให้นำปลั๊กสามตาไปด้วยเพื่อต่อพ่วงเพื่อที่จะสามารถใช้ชาร์จไฟฟ้าได้หลายอย่างในครั้งเดียวกัน
น้ำประปา
การประปาของสหราชอาชอาณาจักรมีระบบการทำน้ำประปาที่สะอาดมาก ซึ่งเราสามารถดื่มน้ำจากก๊อกน้ำตามบ้านหรือสาธารณะโดยไม่ต้องผ่านการกรองได้ โดยนักเรียนสามารถดื่มได้เฉพาะน้ำเย็นเท่านั้น ส่วนน้ำร้อนนั้นไม่ควรดื่ม เพราะมีการเติมสารเคมี แนะนำให้ใช้เครื่องกรองน้ำขนาดเล็กยี่ห้อ Brita ที่หาซื้อได้ใน Shop ของ Agros
อาหาร
ประเทศอังกฤษจัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่ามีอาหารนานาชนิดจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น อาหารจีน อาหารอินเดีย อาหารไทย อาหารอิตาลี อาหารญี่ปุ่น รวมไปถึงอาหารประจำชาติอย่าง Cottage Pie Fish & Chips หรือ Roast meat with Yorkshire Pudding ร้านอาหารมีให้เลือกตั้งแต่ราคาย่อมเยาไปจนถึงร้านอาหารหรู หากต้องการทำอาหารทานเองก็สามารถเลือกซื้อวัตถุดิบได้จากซุปเปอร์มาร์เกต เช่น Tesco, Aldi, Sainsbury’s, Mark and Spencer, Waitrose, Spar หรือจากร้านค้าในย่าน China Town ซึ่งมีอาหารและสินค้านำเข้าจากประเทศไทยและเอเชีย
วัฒนธรรมอังกฤษ
เมื่อเดินทางมาถึงประเทศอังกฤษ หากเพิ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรก อาจจะพบกับสภาวะ Culture Shock ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย วัฒนธรรมตะวันตกมีความแตกต่างจากวัฒนธรรมเอเชียค่อนข้างมาก แต่การปรับตัวก็ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไรนัก ขอแนะนำให้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเตรียมตัวไปก่อนล่วงหน้า จะได้สามารถปรับตัวในระยะแรกได้ง่ายและเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการเริ่มต้นชีวิตในต่างแดน
การแต่งตัว : คุณอาจจะรู้สึกประหลาดใจเมื่อเห็นเสื้อผ้าที่นักศึกษาอังกฤษใส่ไปมหาวิทยาลัย เพราะที่นี่ไม่มีเครื่องแบบเหมือนประเทศไทย นักศึกษาสามารถแต่งตัวได้ตามใจชอบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเลือกใส่ชุดสบายๆ เหมาะสมกับสภาพอากาศและสวยงามตามแฟชั่น ไม่เน้นความเป็นทางการมากนัก แต่ในบางสถานการณ์อย่างเช่นวันที่มีสัมภาษณ์เพื่อเข้าศึกษาหรือสัมภาษณ์งาน ก็ควรเลือกเครื่องแต่งกายให้ดูสะอาดเรียบร้อย สุภาพ และน่าเชื่อถือ มากกว่าวันปกติทั่วไป
ชีวิตในมหาวิทยาลัย : ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของที่นี่ค่อนข้างผ่อนคลายและมีความเป็นกันเองสูง เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยินดีให้ปรึกษาในเรื่องต่างๆ โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องปรึกษาแค่เรื่องการเรียนเท่านั้น เมื่อมีปัญหาใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนหรือการใช้ชีวิต สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยได้ทันที โดยไม่ต้องเกรงใจหรือรู้สึกไม่กล้า พวกเขาพร้อมจะช่วยเหลืออยู่เสมอ และไม่ได้คิดว่ามันเป็นการรบกวนจนเกินเหตุแต่อย่างใด นอกจากนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ยังมีการก่อตั้งศูนย์ให้บริการนักศึกษาต่างชาติขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่
การทักทาย : มารยาททางสังคมเริ่มจากเมื่อแรกพบ คนอังกฤษเมื่อพบกันจะใช้วิธียื่นมือขวาจับกันและเขย่ามือเล็กน้อย พร้อมพูด How do you do? หรือ Nice (Please) to meet you, my name is… ซึ่งอีกฝ่ายควรพูดตอบเช่นกัน จากนั้นเริ่มบทสนทนาด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนผู้นั้น เช่น หน้าที่การงาน สิ่งที่เขาเรียน สิ่งสวยงามในประเทศของเขา
สำหรับคนที่สนิทกัน ผู้ชายจะจับมือแล้วโน้มตัวใกล้กันคล้ายกอดแบบหลวมๆ ส่วนผู้หญิงกับผู้หญิง หรือผู้หญิงกับผู้ชาย กอดเบาๆ เอาแก้มซ้ายชนกันก่อนแก้มขวา ทำปากเหมือนจูบอากาศ หากต้องการหลีกเลี่ยงการกอด ให้รีบยื่นมือเป็นการแสดงความจำนงว่าขอจับมือทักทาย
ถ้าคนสองคนมีโอกาสได้พบกันได้บ่อยๆ ก็พูดคุยทักทายกันได้เลย คนที่อังกฤษชอบเริ่มด้วยเรื่องเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและมีผลกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนโดยตรง ส่วนการสนทนาต่อไป ก็ให้เข้าใจว่า คนส่วนใหญ่จะรู้สึกสบายๆ ที่จะพูดเรื่องใกล้ตัว เรื่องที่อยู่ในความสนใจ ความถนัด ความชอบ แต่พึงระวังว่า การถามต้องเป็นไปในลักษณะสุภาพ มีความพอดี ไม่เซ้าซี้ ซอกแซก ไม่ทำให้คู่สนทนารู้สึกอึดอัด ลำบากใจที่จะตอบ หรือคิดว่าเราเป็นพวกชอบสอดรู้สอดเห็น
ยามต้องจากลา ในการจบบทสนทนาและปลีกตัวไป ทุกครั้งควรใช้คำว่า Sorry หรือ Excuse me คำสำคัญที่ควรพูดติดปากคือ Please, Thank you, Sorry, Excuse me ฯลฯ โดย Please เมื่อต้องการขอความช่วยเหลือ เช่น Can (May) I…, please? หรือ Thank you เมื่อได้รับความช่วยเหลือ หรือพูดประกอบคำขอความช่วยเหลือ เช่น Please, can you…? Thank you หรือ I’m sorry สำหรับพูดขอโทษเมื่อชน หรือเหยียบเท้า ผู้พูดรู้สึกเสียใจที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น หรือทำไปโดยที่ไม่ได้คาดว่าผลจะเป็นเช่นนั้น หรือ Excuse me เมื่อต้องเรียกร้องขอความสนใจ จะเริ่มต้นถาม ขอร้องคนอื่น Excuse me, May I ask you a question? ส่วน Pardon? Say again? Come again? Please หรือ Sorry? ใช้เมื่อต้องการให้คู่สนทนา พูดหรือถามซ้ำ
ผู้ชายและผู้หญิง : ผู้ชายและผู้หญิงในประเทศอังกฤษจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และอาจพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงของที่นี่ ค่อนข้างเป็นทางการน้อยกว่าคนในแถบเอเชีย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติตัวต่อกันระหว่างชายหญิง ก็ยังแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับระดับอายุและสถานภาพของแต่ละคนด้วย หากไม่มั่นใจว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร คุณควรหมั่นสังเกตผู้คนรอบตัวว่าเขามีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง แล้วจึงนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ
มารยาทบนโต๊ะอาหาร : มารยาทบนโต๊ะอาหารของชาวอังกฤษเป็นแบบสากลที่ใช้กันทั่วไปในยุโรป คุณควรถือส้อมด้วยมือซ้าย ถือมีดด้วยมือขวา และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก็ให้รวบส้อมกับมีดไปวางไว้บนจานฝั่งขวามือ เพื่อแสดงให้เจ้าของบ้านเห็นว่าคุณอิ่มเรียบร้อย
เรื่องของเวลา : คนอังกฤษให้ความสำคัญกับการตรงต่อเวลามาก หากมีการนัดหมายหรือได้รับเชิญไปดินเนอร์ คุณควรไปให้ถึงตามกำหนดเวลาไม่ควรไปสายเด็ดขาด และในการไปดินเนอร์ที่บ้านเพื่อนนั้น โดยมารยาทแล้วคุณควรมีของขวัญเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ไวน์ ช็อกโกแลต หรือดอกไม้ ติดมือไปฝากเจ้าของบ้านด้วยและถ้าเป็นงานปาร์ตี้ โดยทั่วไปแล้วแขกจะต้องนำเครื่องดื่ม อย่างเช่นไวน์หรือเบียร์ ติดไม้ติดมือไปร่วมงานด้วย เพื่อแบ่งปันกันดื่มในหมู่เพื่อนฝูง
อังกฤษค่อนข้างเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง เพราะประชากรมาจากหลายเชื้อชาติด้วยกันและคนอังกฤษส่วนใหญ่ก็ใจกว้างและยินดีต้อนรับชาวต่างชาติด้วยความเป็นมิตรไม่ว่าคุณจะมาจากประเทศไหน ก็สามารถเข้าร่วมสังคมกับพวกเขาได้อย่างสบายใจ
ข้อควรระวังในการเดินทางท่องเที่ยวในอังกฤษ
- แม้คนอังกฤษจะได้ชื่อว่าเป็นคนที่ซื่อสัตย์ที่สุดชาติหนึ่งของโลก แต่เนื่องจากปัจจุบันนี้มีคนมากหน้าหลายตาเข้าไปทำกินในอังกฤษทำให้นักท่องเที่ยวต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
- ในที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ย่านท่องเที่ยวหรือย่านช้อปปิ้ง ควรระวังนักล้วงกระเป๋าหรือวิ่งราว หากเลือกซื้อของหรือลองเสื้อผ้าก็ไม่ควรวางข้าวของสัมภาระทิ้งไว้
- ช่วงเวลากลางคืนไม่ควรใส่เครื่องประดับมีค่าและผู้หญิงไม่ควรโดยสารรถไฟใต้ดินแต่ลำพังในยามวิกาล รวมทั้งไม่ควรไปเดินเล่นในสวนสาธารณะที่มีอยู่มากมาย
- การพกพาอาวุธเพื่อป้องกันตัว อาทิ มีด ปืนไฟฟ้า หรือปืนพกเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ก่อนที่จะเจอผู้ร้ายคนพกอาจถูกจับเสียเองก่อน และโทษก็สูงมากด้วย
- ร้านค้าโดยเฉพาะร้านขายของที่ระลึกและร้านขายอาหารในแหล่งท่องเที่ยวบางร้าน อาจโก่งราคาจนเกินจริง ควรเลือกร้านที่มีเมนูพร้อมราคาติดไว้ที่หน้าร้าน แม้แต่น้ำอัดลมแบบกระป๋องก็อาจมีการถูกโก่งราคาได้ ควรสอบถามราคาให้ แน่ใจเสียก่อน หรือซื้อจากร้านที่ติดราคาแน่นอน เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือคอนวีเนียนสโตร์
- หากเกิดเหตุฉุกเฉินใดๆ ควรรีบแจ้งตำรวจ ซึ่งมีรักษาการณ์อยู่ให้เห็นทุกหนแห่งทั้งตำรวจเดินเท้าและตำรวจขี่ม้าโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวช้อปปิ้งที่มีคนพลุกพล่านนั้น มีตำรวจเดินตรวจตราอยู่ตลอดเวลา
ตรวจฟันก่อนการเดินทางจำเป็นอย่างไร
ท่านควรตรวจฟันก่อนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศเนื่องจากประกันสุขภาพนักศึกษาไม่ได้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายทางทันตกรรมซึ่งจัดว่าสูงมากจึงควรตรวจฟันและรักษาก่อนเดินทาง
สิ่งที่ควรรู้ก่อนเดินทาง
แม้อังกฤษเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็มีสนามบินหลายแห่ง มีจำนวนเที่ยวบินเยอะ และหลากหลายเส้นทางมาก หากเดินทางจากประเทศไทย แล้วไม่ได้ไปลงเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่น London, Manchester หรือ Edinburgh ก็อาจจะไม่มีเที่ยวบินตรงเพื่อไปให้ถึงจุดหมายที่ต้องการ ในกรณีนี้จะต้องต่อเครื่อง ซึ่งจะเสียเวลาเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือข้อมูลเกี่ยวกับสนามบิน ควรจะหาข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับสนามบินอย่างรอบคอบ เพราะบางเมืองอาจจะมีมากกว่าหนึ่งสนามบิน (อย่างเช่น London มีถึง 5 สนามบิน) และถ้าไม่อยากหอบหิ้วสัมภาระมากมายหลงทางให้เสียเวลา ควรหาข้อมูลวิธีไปถึงที่พักอย่างถูกต้องและรวดเร็วมาก่อนล่วงหน้าด้วย ซึ่งตามสนามบินส่วนใหญ่ก็จะมีรถสาธารณะให้บริการเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แท็กซี่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี สำหรับคนที่เพิ่งเคยมาอังกฤษเป็นครั้งแรกและยังไม่ชำนาญเส้นทางนัก
เรื่องไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น
อย่าลืมพกเบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยไว้ด้วย เผื่อเกิดข้อผิดพลาดประการใด หรือเจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องการโทรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นจริงๆ ทุกอย่างจะได้ราบรื่น มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะมีศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติ เพื่อความรอบคอบอาจจะแจ้งเที่ยวบินและวันเวลาที่เดินทางมาถึงแก่พวกเขาเอาไว้ในเบื้องต้น และควรมีเอกสารรับรองจากทางมหาวิทยาลัยพกติดกระเป๋าไว้ตลอดเวลา หากเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบเอกสารแล้วไม่มี ก็อาจไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าประเทศ บางทีอาจมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ควบคุมไม่ได้เกิดขึ้น อย่างเช่น เที่ยวบินดีเลย์ หรือ กระเป๋าเดินทางหาย ควรควบคุมสติของตัวเองให้ดี อย่าตื่นตระหนกมากจนเกินไปนัก เจ้าหน้าที่สนามบินสามารถช่วยเหลือคุณได้ ขอเพียงให้รีบแจ้งรายละเอียดความผิดพลาดต่างๆ ให้พวกเขารับทราบ
ควรนำเงินไปเท่าไหร่
ควรนำเงินสดติดตัวไปให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเดือนแรกเท่านั้น หรือประมาณไม่เกิน 1,000 ปอนด์ ทั้งนี้อาจนำไปมากกว่านี้ในกรณีที่ต้องจ่ายค่ามัดจำ หรือค่าเช่าในช่วงเดือนแรก หรือ ค่ารถรับส่งสนามบิน ควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการเก็บเงินสด โดยอาจเก็บแยกเพื่อความปลอดภัย บัตรเครดิตการ์ดจากเมืองไทยสามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน เมื่อท่านถึงประเทศอังกฤษ ท่านสามารถเปิดบัญชีธนาคารประเภทนักศึกษาได้
สุดยอดเคล็ดลับ
- ตรวจสอบให้ดีว่าสายการบินที่เราขึ้นอนุญาตให้เรานำสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่องกี่กิโล แต่ละบริษัทจะมีข้อกำหนดแตกต่างกันและเราคงไม่อยากจะทิ้งอะไรก่อนขึ้นเครื่องที่สนามบิน
- ตรวจสอบข้อจำกัดของสัมภาระบนเครื่องบิน ในอังกฤษทางสนามบินจะไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารเดินทางหากมีของมีคมหรือของเหลวในกระเป๋า แต่บางสายการบินจะระบุขนาดของสิ่งของหรือสิ่งของต้องห้ามนำขึ้นเครื่องต่างหากด้วย ต้องตรวจสอบดูให้ดี
- ปลั๊กไฟในอังกฤษไม่เหมือนของบ้านเรา ดังนั้นต้องซื้อ Adapter สำหรับประเทศอังกฤษโดยเฉพาะพกติดตัวไปด้วย
เตรียมอะไรไปบ้าง
ตรวจสอบให้ครบ สิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระเป๋าเดินทางที่แนะนำให้น้องๆ เตรียม ได้แก่
ชุดเเเต่งกาย
- ชุดนอน
- ชุดลำลอง
- ชุดทางการ
- กางเกงยีนส์หรือกางเกงที่ใส่สบายคล่องตัว
- เสื้อกันหนาวหรือแจ็คเก็ต
เครื่องเเต่งกาย
- ถุงเท้า/ ถุงมือ
- ผ้าพันคอ
รองเท้า
- รองเท้าแตะ
- รองเท้าผ้าใบ
- รองเท้าบูท (ถ้าไปช่วงหน้าหนาว)
อื่นๆ
- คอนแทคเลนส์ และน้ำยาล้างเลนส์
- แว่นตา
- แว่นกันแดด
- ชุดอุปกรณ์อาบน้ำ
- ครีมกันแดด
- เครื่องสำอางค์
- โลชั่นทาผิว
- ร่มพับ
ที่ชาร์ตแบตมือถือ อุปกรณ์แปลงไฟสำหรับท่านที่นำอุปกรณ์ไฟฟ้าจากเมืองไทยไปใช้ในประเทศอังกฤษ อย่าลืมนำปากกาและสมุดจดบันทึกไปด้วยเพราะไปซื้อทีประเทศอังกฤษจะมีราคาสูงกว่า สิ่งสุดท้ายอย่าลืมนำอาหารและยาที่จำเป็น (ต้องมีใบกำกับยาจากแพทย์ในกรณีที่เป็นยาประจำตัว)
ข้อควรจำในการแพ็คกระเป๋า
น้ำหนักกระเป๋า: สายการบินส่วนใหญ่อนุญาตให้นักศึกษาที่จะเดินทางไปต่างประเทศนำสิ่งของไปได้ทั้งนี้น้ำหนักของกระเป๋าขึ้นอยู่กับแต่ละสายการบิน ฉะนั้นท่านควรนำสิ่งที่จำเป็นติดตัวไปในปริมาณที่พอเหมาะ ท่านสามารถแยกเป็น 2 กระเป๋าใหญ่หรือจะนำไปเพียงกระเป๋าเดียวก็ได้ นอกจากนี้ท่านควรมีกระเป๋าเล็กที่ติดตัวขึ้นเครื่อง น้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม ไว้สำหรับเก็บเอกสารสำคัญทางการเรียน
เอกสารสำคัญที่ท่านต้องนำติดตัวขึ้นเครื่อง: เป็นเอกสารสำคัญทั้งหลาย ที่อาจจำเป็นต้องใช้ในการแสดงตัวตน ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋าเดินทางที่โหลดลงใต้ท้องเครื่อง ควรพกติดตัวไว้ตลอดเวลา โดยอาจใส่ไว้ในกระเป๋าที่คุณถือขึ้นเครื่อง และอย่าลืมทำสำเนาเอกสารสำคัญๆ เอาไว้ด้วย ได้แก่ พาสปอร์ตเล่มจริง, SVV หรือ CAS (ใบตอบรับจากทางมหาวิทยาลัย), ใบผลตรวจปอด (IOM) ใช้สำหรับน้องๆที่อยู่ในอังกฤษเกิน 6 เดือนขึ้นไป, เอกสารรับรองที่พัก (Host family/Residential Hall)
*เอกสารเหล่านี้อาจต้องนำออกมาแสดงที่ด้านตรวจคนเข้าเมือง ณ ประเทศอังกฤษ หากเจ้าหน้าที่เรียกตรวจ
การจัดเสื้อผ้า: ควรตรวจสอบสภาพอากาศ ณ เดือนที่ท่านจะเดินทางหากเดินทางหน้าหนาวต้องติดเสื้อหนาวไว้กับตัว หรือในประเป๋าเล็กติดตัวขึ้นเครื่อง รองเท้า ควรเลือกที่ใส่สบายและควรติดรองเท้าผ้าใบไปด้วยเพราะสถาบันภาษา หรือ มหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษมีบริเวณกว้าง และผู้คนก็นิยมเดินในระยะใกล้ รองเท้าที่เหมาะกับการเดินจึงขาดไม่ได้
แว่นตา: สำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตา ควรนำแว่นสายตาติดไปอย่างน้อย 2 อันเพราะการตัดแว่นใหม่ที่ประเทศอังกฤษ ท่านต้องทำการนัดกับจักษุแพทย์ซึ่งระยะเวลาการนัด การตรวจวัด และรอแว่นใหม่อาจเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน และราคาแพงกว่าเมืองไทยมาก ท่านที่ใช้คอนแทคเลนส์ ควรนำไปหลายชุดให้พอเพียง พร้อมน้ำยาล้างเลนส์ เพราะราคาน้ำยาล้างเลนส์ที่อังกฤษแพงกว่าเมืองไทยหลายเท่าตัวเช่นกัน
เมื่อถึงสนามบินสุวรรณภูมิ
- เช็คจากจอ Monitor ว่า สายการบินของท่านต้อง Check-in ที่ Counter ใด เมื่อเช็คอินแล้ว ท่านจะได้รับ Boarding Pass และ Luggage Tag ตามจำนวนกระเป๋าที่ท่านโหลด (ส่วนใหญ่ทุกสายการบินจะมีให้น้องๆทำ check-in Online ไว้ก่อนล่วงหน้าได้ค่ะ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการรอคิวนาน)
- ควรเดินเข้าเพื่อตรวจ Passport ขาออกที่กองตรวจคนเข้าเมือง Passport Control ก่อนเวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อเผื่อเวลาเดินเข้า Gate ในกรณีที่ Gate อยู่ไกล
เมื่อไปถึงแล้วต้องติดต่อใครบ้าง
School/University: อย่าลืมแจ้งให้ทางมหาวิทยาลัยและทางที่พักทราบว่าคุณจะเดินทางไปถึงวันไหน สายการบินอะไร เวลากี่โมง ลองถามดูว่ามหาวิทยาลัยมีบริการมารับนักศึกษาต่างชาติที่สนามบินหรือไม่ จดรายละเอียดที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของคนที่คุณต้องติดต่อติดตัวไว้เสมอ ถ้าต้องเดินทางไปยังที่พักเอง ควรตรวจสอบวิธีการเดินทางและแลกเงินให้พอสำหรับค่ารถไปก่อนล่วงหน้า
Post Office Register: สำหรับบุคคลต่างชาติที่มีความประสงค์จะเดินทางไปประเทศอังกฤษเป็นระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป โดยกฎนี้จะเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2015 เป็นต้นไป หากบุคคลใดที่ยื่นของวีซ่าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2015 เป็นต้นไป จะต้องดำเนินการขอรับ Biometric Residence Permit (BRP) ดังนี้
- ติดต่อที่ว่าการไปรษณีย์ (Post Office) ที่ใกล้สถานที่พักหรือที่สะดวกที่สุดเพื่อขอรับจดหมาย BRP สำหรับที่ว่าการไปรษณีย์มักจะตั้งอยู่ในจุดที่สำคัญภายในตัวเมือง ขั้นตอนนี้ต้องรีบดำเนินการภายในระยะเวลา 10 วันเท่านั้น นับตั้งแต่วันแรกที่เดินทางถึงประเทศอังกฤษ หากเกินกว่า 10 วันจะต้องดำเนินการขอวีซ่าใหม่ทั้งยังรวมไปถึงเสียค่าใช้จ่ายอีกครั้งสำหรับการทำวีซ่า
- หลังจากได้รับจดหมายจากทางไปรษณีย์แล้วจะต้องนำเอกสารและรายละเอียดทั้งหมดที่ได้รับเพื่อนำไปดำเนินการลงทะเบียนออนไลน์ ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีระยะเวลา 30 วันในการลงทะเบียนออนไลน์
General Practitioner (GP): ระบบสาธารณสุขในประเทศอังกฤษ ซึ่งให้บริการประชาชนในประเทศรวมถึงนักศึกษาชาวต่างชาติโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น โดยจะต้องติดต่อขอลงทะเบียนในพื้นที่อาศัยของตนเอง ในแต่ละพื้นที่จะมี GP ให้บริการด้านการแพทย์ เมื่อเจ็บป่วยหรือต้องการการรักษา ให้โทรไปที่ศูนย์ GP ในพื้นที่ของตนเองเพื่อทำการจองการรักษา
**ในประเทศอังกฤษ จะไม่อนุญาตให้เข้าไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยไม่ได้นัดหมาย ซึ่งแตกต่างจากระบบการบริการทางสาธารณสุขในเมืองไทย ทุกคนจะมีแพทย์ประจำตัว ซึ่งต้องติดต่อจาก GP ในพื้นที่ของตนเองเท่านั้น หากมีการเจ็บป่วยรุนแรง แพทย์ของตนเองจะดำเนินการส่งตัวไปทางโรงพยาบาลเฉพาะทาง**
ค่าบริการสุขภาพ: สำหรับนักเรียนต่างชาติจากประเทศนอกทวีปยุโรป ซึ่งรวมถึงนักเรียนไทยที่จะเข้ามาพำนักในสหราชอาณาจักรมากกว่า 6 เดือน จะต้องจ่ายค่าบริการสุขภาพเพื่อรับสิทธิบริการประกันสุขภาพ International Health Surcharge (IHS) อัตราค่าบริการสุขภาพอยู่ที่ 150 ปอนด์ต่อปี สำหรับนักเรียน และจะจ่ายพร้อมกับการยื่นขอวีซ่าออนไลน์
รายละเอียดอื่นๆ
- เบอร์โทรที่ควรทราบ : สถานทูตและกงสุลไทยประจำประเทศอังกฤษ
สถานกงสุลไทยประจำประเทศอังกฤษ
29-30 Queen’s Gate, London SW7 5JB
Tel: 020 75890173
Fax: 020 75892944
- หนังสือเดินทาง : หากหนังสือเดินทางหายหรือหมดอายุระหว่างทีอยู่ในประเทศอังกฤษ สามารถต่ออายุหรือทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่โดย
- การยื่นคำร้องนัดหมายกับสถานเอกอัครราชทูตฯ ล่วงหน้าที่หมายเลข 020 7589 2944 ต่อ 5500 ในวันทำการ ระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. หรือทำการนัดหมายออนไลน์
- ไม่ควรวางแผนเดินทางหากยังไม่ได้รับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ระยะเวลาในการรับหนังสือเดินทางไทยคืนประมาณ 4-8 สัปดาห์
- ค่าธรรมเนียมในการขอหนังสือเดินทาง 25 ปอนด์ (เงินสด)